เมื่อสาวฟันเหยินคนนี้ อยากปากเล็ก ได้รูป จึงตัดส่วนนี้ออก มาดูกันว่าหลังทำแล้วจะออกมาเป็นยังไ



สวัสดีค่ะ จขกท.จะมาแชร์ประสบการณ์การจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร

พร้อมรูปรีวิวความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่เริ่มจัดฟัน หลังผ่าตัด จนถึงตอนนี้ (4 เดือนหลังผ่าตัด)

ต้องบอกก่อนว่าขั้นตอนการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกรของคนอื่นอาจไม่ได้เป็นแบบนี้นะคะ

โดยอาจจะเร็วหรือช้ากว่านี้ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของหมอว่าจะวางแผนการรักษาอย่างไร สำหรับคนไข้แต่ละเคส

สำหรับใครที่สงสัยว่าความผิดปกติของข้อต่อขากรรไกรคืออะไรการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกรเป็นยังไง

ต่างกับการจัดฟันธรรมดายังไง สามารถเข้าไปอ่านที่ลิ้งค์ข้างล่างนี่ได้เลยค่ะ

 เคสของจขกท.เป็นเคสขากรรไกรบนคร่อมขากรรไกรล่างค่ะ ดูเผินๆ อาจจะดูเหมือนฟันเหยิน

แต่จริงๆ กระดูกขากรรไกรบนยื่นยาวกว่าปกติ ขณะที่กระดูกขากรรไกรล่างกลับสั้น

ทำให้ฟันบนคร่อมฟันล่าง ใช้ฟันหน้ากัดอะไรไม่ได้ กัดเส้นก๋วยเตี๋ยวยังไม่ขาดเลย เพราะมันไม่สบกัน

นอกจากนี้กระดูกขากรรไกรบนที่ยาวผิดปกติยังทำให้ยิ้มเห็นเหงือกมาก หรือที่เรียกว่า Gummy Smile

ซึ่งเป็นที่มาของฉายา นางเหงือก ตอนเด็กๆ

แถ่น แทน แท้นนนน
รูปพลีชีพรูปแรกมาแล้ว ฮ่าๆ

อันนี้เป็นรูปตอนม.4 ค่ะ ถ้าสังเกตดีๆ จะเห็นว่า ขากรรไกรข้างซ้ายเอียงลงมากกว่าข้างขวาเล็กน้อย

ทำให้คางเบี้ยว ใบหน้าไม่สมมาตร

จขกท.มาเริ่มจัดฟันครั้งแรกก็ตอนม.6 ค่ะ (เมื่อ 8 ปีที่แล้ว อย่าคำนวณอายุนะ ฮ่าๆ)

ตอนนั้นคิดว่าตัวเองฟันเหยินเฉยๆ ก็เลยไปพบทันตแพทย์ แต่หลังจากเอ็กซเรย์+พิมพ์ฟัน หมอบอกว่า

"เคสของเราปัญหาไม่ได้อยู่ที่ฟันแต่อยู่ที่ขากรรไกร จัดฟันอย่างเดียวจะไม่ทำให้เหงือกหายยื่น ต้องผ่าตัดร่วมด้วยนะ"

ฟังแล้วถึงกับเงิบ ตั้งใจมาจัดฟัน ไหงมีผ่าตัดด้วย เห็นเพื่อนจัดฟันอย่างมากก็ผ่าฟันคุด แต่นี่ ผ่าตัดขากรรไกร!!!

ตอนนั้นแม่เป็นคนพาไปที่คลินิก หมอเลยให้ไปเรียกแม่เข้ามาฟังด้วย แล้วหมอก็อธิบายว่าตอนนี้อายุยังน้อย

ปัญหาขากรรไกรผิดปกติอาจยังไม่ส่งผลกระทบอะไรมาก แค่เรื่องความสวยงาม กับการบดเคี้ยวเล็กน้อย

แต่พออายุมากขึ้น จะเริ่มมีปัญหามากขึ้น ถามว่า จัดฟันอย่างเดียว ไม่ได้เหรอคะหมอ? ก็ได้คำตอบมาว่า

การจัดฟันไม่ได้ทำให้กระดูกขากรรไกรเปลี่ยน กรณีนี้การจัดฟันเพียงอย่างเดียว จึงไม่ช่วยอะไร (TT__TT)

แต่ถ้ายืนยันว่าจะจัดฟัน หมอมีตัวเลือกให้ นั่นคือ

1. จัดฟันโดยไม่ถอนฟัน –ผลการรักษาคือ จะได้ฟันที่เรียงตัวไม่ซ้อนเก แต่ไม่ช่วยให้โครงหน้าเปลี่ยน

เหงือกและฟันจะยังยื่นเหมือนเดิม แต่อนาคตถ้าต้องการจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดก็สามารถทำได้

2. จัดฟันโดยถอนฟัน แต่ไม่ผ่าตัด –ผลการรักษาคือ ฟันจะถูกดึงเข้าไป แต่เหงือกจะยังยื่นเหมือนเดิม

ยิ้มเห็นเหงือกปากอูมเหมือนเดิม และจะไม่สามารถจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดได้อีก

เพราะมีการถอนฟันไปแล้ว วิธีการจัดฟันก็ต่างจากแบบผ่าตัดด้วย

3. จัดฟันร่วมกับผ่าตัดขากรรไกร –ผลการรักษาคือ รูปร่างขากรรไกร จะเปลี่ยน การสบฟันดีขึ้น โครงหน้าจะเปลี่ยนไป

ขากรรไกรบนจะหายยื่นจะไม่ยิ้มเห็นเหงือกและปากไม่อูมอีกต่อไป

แค่ได้ยินว่าต้องผ่าตัดก็ช็อคแล้ว แต่ที่ช็อกกว่าคือค่าผ่าตัด 2 ขากรรไกร 80,000 บาทค่ะ

ถือว่าเยอะมากสำหรับเด็กมอปลายอย่างเรา ตอนนั้นได้เงินจากการเขียนนิยาย เลยคิดจะจัดฟัน

แต่เงินจำนวนนี้ก็มากไปอยู่ดี แม่ก็ไม่อยากให้ผ่า บอกเราก็ไม่ได้เป็นอะไรมาก ไม่ต้องไปผ่าหรอก

สรุปก็เลยเลือกจัดแบบไม่ถอนฟันค่ะ
รูปตอนจัดฟันใหม่ๆ (ม.6) เหงือกกับฟันมาเต็มมาก 55
ส่วนอันนี้รูปตอนปี 1 หลังจากจัดฟันมาประมาณ 1 ปี เวลาหุบปากจะเหมือนอมอะไรไว้
คิ้วก็บาง คางก็สั้น ปากก็ห้อย เหงือกก็เยอะ ชีวิตเศร้าเนอะ 555
วลาเผลอๆ ก็ไม่ค่อยได้หุบปากอะค่ะ เพราะมันหุบไม่ด้ายยยย
เจัดเสร็จถอดเหล็กตอนปี 3 รวมระยะเวลาในการจัดฟันครั้งแรก 4 ปี

ชอบมีคนมาถามว่า นี่จัดฟันมาแล้วเหรอ? จัดแล้วทำไมยังเหยินอยู่?

แรกๆ ก็พยายามอธิบาย แต่หลังๆ เริ่มนอยด์ อธิบายไปเค้าก็ไม่เข้าใจ  เลยเปลี่ยนเป็นแค่ยิ้มๆ โชว์เหงือกพอ ฮ่าๆ

หลังจากถอดเหล็กออกก็ไม่ได้ทำอะไรกับฟันอีก จนกระทั่งเริ่มมีอาการขากรรไกรค้างและปวดตรงข้อต่อขากรรไกร

เวลาอ้าปากกว้างๆ เช่น เวลาหาว เวลาอ้าปากจะงับอาหารจากช้อน จะมีเสียงตรงหน้าหู เสียงเหมือนอะไรหักซักอย่าง

ซักพักอาการที่ว่าเริ่มถี่ขึ้นเรื่อยๆ คำพูดหมอฟันสมัยมอปลายนี่ลอยมาเลย

ทีนี้มานั่งหาข้อมูลอย่างจริงจัง ก็เจอว่าอาการที่กำลังเป็นอยู่ แสดงว่าข้อต่อขากรรไกรเริ่มมีปัญหา ฟังดูร้ายแรงแฮะ

ไปปรึกษาหมอที่โรงพยาบาลทันตกรรม คณะทันตแพทยศาสตร์  มหาวิทยาลัยมหิดล ในซอยโยธี ตรงข้ามเซนจูรี่

(ตามรีวิวในบล็อกของพี่คนนึงที่อีฟไปเจอมาเมื่อนานมาแล้ว) หมอมองปราดเดียวฟันธงเลยว่า ต้องจัดฟันร่วมกับผ่าตัดขากรรไกร

แล้วก็พูดเหมือนหมอที่จัดฟันให้ครั้งแรกเป๊ะ  คือยิ่งอายุมากปัญหาก็จะยิ่งเพิ่มขึ้น ถ้าไม่ผ่าตัด

เพราะตอนนี้ขากรรไกรลั่นแล้ว แสดงว่ามันไม่ไหวแล้ว  คราวนี้ตัดสินใจจัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกรค่าาา

เอาจริงๆ ไม่ได้กลัวการผ่าตัดนะ แต่กลัวไม่มีตังค์จ่าย 555

มาถึงขั้นตอนการจัดฟัน ที่คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

ก่อนอื่นต้องเข้าคิวค่ะ คิวจะมี 2 แบบ คือ ในเวลา กับ นอกเวลา จขกท.เลือกนอกเวลา เพราะสะดวกกว่าและได้คิวเร็วกว่าในเวลา

แต่เสียตรงราคาแพงกว่าในเวลาค่ะ เฉพาะค่าจัดฟัน 50,000 บาท แบ่งจ่าย 2 ครั้งแรก ครั้งละ 7,600 บาท ต่อไปครั้งละ 1,200 บาท

ทีนี้พอถึงคิวแล้ว ต้องไปเอ็กซเรย์ พิมพ์ฟัน คุยกับทั้งหมอจัดฟันและหมอผ่าตัด เพราะหมอทั้งสองคนจะต้องวางแผนการรักษาร่วมกัน

ตอนไปคุยไม่เสียค่าใช้จ่ายนะคะ เสียเฉพาะพวกค่าเอ็กซเรย์ เสร็จแล้วก็ไปเคลียร์ช่องปากเตรียมติดเหล็กได้เลยค่ะ


Timeline การรักษา

มี.ค. 57 ติดเหล็กครั้งแรก ทั้งด้านบนและด้านล่าง กลับมามีเหล็กในปากอีกครั้ง รู้สึกเคืองๆ ไม่ค่อยชิน

มิ.ย. 57 หมอจัดฟันกับหมอผ่าตัดลงความเห็นว่าฟันเข้าที่พร้อมผ่าแล้ว (ฟันจขกท.เรียงตัวจากการจัดฟันครั้งแรก เลยค่อนข้างเร็วค่ะ)
รูปตอนจัดฟันได้ 3 เดือน (มิ.ย. 57)  เราว่าจมูกเราก็โด่งอยู่นะ แต่ฟันเราโด่งกว่า ฮาาา

ก.ค. 57 หมอเขียนใบส่งตัวให้ไปจองคิวผ่าตัดที่แผนกห้องผ่าตัด เราขอผ่าต้นปี 58 เพราะยังไม่พร้อมเรื่องค่าใช้จ่าย

เจ้าหน้าที่แจ้งว่าค่าผ่าตัด 2 ขากรรไกร ประมาณ 200,000 บาท เหงื่อแตกสิครัช

ระหว่างนี้ก็จัดฟันเปลี่ยนลวดไปเรื่อยๆค่ะ ไปทีไรก่อนจะได้เจอหมอ ผู้ช่วยจะให้เลือกสียางทุกครั้ง แต่ก็ไม่เคยได้ใส่ยาง

หมอใช้แค่ลวดพันสลับไปมา ยกเว้นครั้งแรกที่ติดเหล็ก จนบางทีแอบอยากกระซิบบอกผู้ช่วยหมอว่า ไม่เลือกได้มั้ย เลือกทีไรเก้อทุกที ฮ่าๆ

สรุปว่าได้คิวผ่าเป็นวันที่ 21 ก.พ. 58  ช่วงปลายเดือนหมอนัดมาพิมพ์โมเดลฟัน วัดระยะฟัน เตรียมผ่าตัด แล้วก็เขียนใบส่งตัวให้ไปตรวจ

ร่างกายที่โรงพยาบาล เวชศาสตร์เขตร้อน จองเลือดที่โรงพยาบาลรามาธิบดี สำหรับคนที่ร่างกายแข็งแรงน้ำหนักถึงเกณฑ์

สามารถเก็บเลือดตัวเองไว้ใช้ได้ค่ะ แต่จขกท.น้ำหนักน้อยเลยต้องจองเลือดคนอื่น 

ก่อนถึงวันผ่าตัดก็ต้องรักษาสุขภาพให้แข็งแรงค่ะ ห้ามป่วยในช่วงใกล้ผ่าตัดเด็ดขาดแม้แต่ไข้หวัดธรรมดาก็ต้องเลื่อนการผ่าตัดเลยทีเดียว

ก่อนหน้านี้จขกท.หาข้อมูลเรื่องการพักฟื้นหลังผ่าตัดด้วยการอ่านรีวิวในกรุ๊ปเฟสบุ๊กที่ชื่อ "จัดฟันร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกร"  มีทั้งข้อมูลเรื่อง

ของใช้ที่จำเป็นระหว่างพักฟื้น อาหาร วิธีดูแลตัวเองหลังผ่าตัด ได้ความรู้จากที่นี่เยอะมาก  แล้วยังได้เพื่อนใหม่อีกหลายคนด้วย พี่ๆ ในกรุ๊ปน่ารักมาก

แอดเฟสบุ๊คไปถามอะไรก็ตอบหมดไม่มีกั๊ก (ขอบคุณจากใจค่ะ)
รูปตอนไปพิมพ์ฟัน อย่าตกใจ ยิ่งใกล้ผ่าสภาพหน้าจะยิ่งแย่ (เกี่ยวมั้ย 55) คิดว่าหมอก็คงจะสะพรึงกลัวอยู่ไม่น้อย
นี่โมเดลฟันเก๊าเอง
 20 ก.พ. 58  มาแอดมิทที่ชั้น 10 โรงพยาบาลทันตกรรม ตอนประมาณสี่โมงเย็น จองห้องพิเศษเอาไว้
 ค่าห้องคืนละ 2,000 บาทค่ะ (แต่ไม่ใช่ห้องแพงที่สุดนะคะ มีห้องพิเศษ VIP อีก)
 บรรยากาศในห้องสะดวกสบายตามในรูปเลยค่ะ
พรีเซ็นเตอร์กับมุมโต๊ะอาหารติดหน้าต่าง
นห้องมีตู้เย็น ไมโครเวฟให้ด้วย  ใกล้กับเตียงคนไข้มีโซฟาเบดสำหรับญาตินอนเฝ้า
ใเตียงคนไข้สามารถปรับระดับได้ด้วยปุ่มข้างเตียง
เบื่อๆ ก็เปิดทีวีดูได้ บางทีก็รู้สึกว่ากำลังอยู่ในโรงแรม มากกว่าโรงพยาบาล 555

หลังจากเข้าห้องมา ก็จะมีพยาบาลมาอธิบายทุกอย่างที่เราจำเป็นต้องรู้ รวมถึงสร้างความเข้าใจให้กับญาติด้วยว่า

อาการหลังผ่าตัดของคนไข้จะเป็นยังไง ไม่ต้องตกใจ

เพราะญาติส่วนใหญ่จะตกอกตกใจเมื่อเห็นสภาพคนไข้หลังผ่าตัด ส่วนข้าพเจ้ามีเวลาสวาปามอาหารได้ถึงก่อน 5 ทุ่ม

หลังจาก 5 ทุ่ม ต้องงดน้ำ งดอาหาร T^T อาบน้ำ สระผม เป็นครั้งสุดท้าย ก่อนจะทำไม่ได้ไปอีกหลายวัน

เปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดคนไข้แล้วมาเซลฟี่เป็นที่ระลึก
ก่อนนอนได้ยานอนหลับครึ่งเม็ด ตอนแรกก็ตื่นเต้นนอนไม่หลับ แต่ซักพักพอยาออกฤทธิ์ก็หลับสบาย
ขุ่นแม่แอบถ่าย นี่เพิ่งรู้ว่าเวลานอนหน้าตาน่าเกลียดน่าชังขนาดนี้ 555

ตอนเช้าพยาบาลมาปลุกตอน 06.30 น.

อาบน้ำเปลี่ยนเสื้อผ้าเป็นชุดสีเขียวสำหรับผ่าตัด  No underwear นะคะจุดนี้ แล้วก็ต้องถอดเครื่องประดับทุกอย่าง

คือต้องตัวเปล่าจริงๆ ได้ยานอนหลับอีกครึ่งเม็ด (แต่รอบนี้มันไม่ได้ทำให้ง่วงเล๊ย)

พอถึงเวลา 07.30 น. พยาบาลก็มาพร้อมกับรถเข็นแบบเตียง แล้วก็ทายาชาเนื้อครีมที่หลังมือให้ เวลาเจาะสายน้ำเกลือจะได้ไม่เจ็บ

จากนั้นก็แค่ขึ้นไปนอน แล้วพยาบาลก็เข็นพาไปห้องผ่าตัด ข้างในห้องผ่าตัด อากาศหนาวมาก

ซักพักก็มีคนมาเจาะสายน้ำเกลือให้ โดยก่อนเจาะ ใช้สเปรย์อะไรไม่รู้พ่นใส่หลังมือ

คือมันเย็นมากจนชา ตอนเจาะนี่ไม่เจ็บเลยค่ะ ถามว่ากลัวมั้ย ไม่นะ ตื่นเต้นมากกว่า

คืออยากรู้ว่า โดนยาสลบแล้วจะเป็นยังไง แต่เตรียมใจไว้ว่าหลังจากฟื้นมา ต้องลำบากแน่ๆ

เพราะเกือบทุกคนที่จขกท.ไปอ่านรีวิวมาบอกว่า คืนแรกทรมานมาก

พอเจาะสายน้ำเกลือเสร็จหมอก็เอาเข็มยามาเลยค่ะ เราก็แบบเหย เอาแล้วๆๆๆ

อยากจะบอกว่าตอนเร่งยานี่มันปวดได้ใจจริงๆ ปวดแบบอยากจะร้องออกมาดังๆ

แต่ปวดแค่ประมาณ นับ 1 ถึง 3 อะค่ะ เพราะหมอเอาหน้ากากเหมือนหน้ากากออกซิเจนมาครอบจมูก

จำได้ว่าหายใจเข้าแค่ฟืดเดียว ฟืดที่สองสติก็ดับไปเลยค่ะ ทุกอย่างเกิดขึ้นเร็วมาก


รู้สึกตัวอีกทีตอนได้ยินเสียงพยาบาลเรียกชื่อ สะลึมสะลือตื่นขึ้นมา

ความรู้สึกเหมือนเพิ่งหลับไปแป๊บเดียว ยังง่วงๆ อยู่ อยากนอนต่อ

พอเห็นว่าเราตื่นแล้ว พยาบาลก็พากลับห้องพัก เริ่มผ่าตัดตอนแปดโมง ออกมาตอนบ่ายสอง รวมใช้เวลา 6 ชั่วโมง

กลับมาถึงห้องมีอาการหนาวสั่น ฟันกระทบกันดังกึกๆ  จนพยาบาลต้องหาผ้าห่มมาห่มให้หลายๆผืน
ในรูปหลับตาอยู่ แต่จริงๆ ไม่ได้หลับนะคะ
 แค่รู้สึกง่วงๆ ลืมตาไม่ขึ้น แต่ยังได้ยินเสียง รับรู้ทุกอย่าง ลืมตาขึ้นมาดูคนนู้นคนนี้บ้างเป็นระยะๆ
นี่คือสภาพหน้าหลังผ่าตัดแค่ไม่กี่ชั่วโมง หน้าบวม ปากบวมเป็นไส้กรอกเลย ฮ่าาาา

สายยางที่โยงออกมาจากปาก 2 เส้น คือสายเดรนเลือด เอาไว้ดูดเลือดที่ไหลจากแผลออกมาใส่ถุงกลมๆ

เหมือนลูกบอลที่ห้อยอยู่ข้างตัว เผื่อใครสงสัยว่าหลังผ่าตัดพูดได้เลยหรือเปล่า ตอบว่า พูดได้เลยค่ะ แต่จะไม่ชัด

เพราะปากบวม หน้าตึง คำแรกที่พูดคือ 'น้ำ' ค่ะ พยาบาลเอาน้ำให้ดื่ม โดยใช้ไซริงฉีดเข้าปาก

หลอดเดียวไม่พอ ขออีกจนพยาบาลบอกพอก่อนเนาะ บางคนอาจจะรู้สึกเจ็บคอจากการใส่ท่อช่วยหายใจตอนผ่าตัด

แต่เราไม่รู้สึกอะไรเลยค่ะ รู้แต่หิวน้ำมาก ซักพักมีอาหารมื้อเย็นมาเสิร์ฟ อาหารที่ว่าคือ น้ำข้าว น้ำซุปใส น้ำตะไคร้ แล้วก็นม

พอเห็นก็ขอกินเลยค่ะ รู้สึกหิวมากอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนในชีวิต แต่พยาบาลบอกว่า วันแรกยังไม่อยากให้กินอะไร

เพราะกระเพาะกับลำไส้ยังทำงานไม่ปกติ แถมบอกว่า ไม่เคยเจอคนไข้ขอกินอาหารหลังผ่าตัดวันแรกเลย

ส่วนใหญ่กินอะไรไม่ลง เรานี่กรีดร้องในใจว่า หนูหิวมากกกกค่ะพี่ สรุปก็อดไปนะคะ ดื่มได้แค่น้ำเปล่า ฮือออ

อาการข้างเคียงหลังผ่าตัดอย่างแรกคือ อาเจียนเลือดออกมาค่ะ  คือเกือบทุกรอบที่ดื่มน้ำ จะอาเจียนเป็นลิ่มเลือดออกมา

พยาบาลบอกว่าเป็นเลือดจากการผ่าตัดที่ไหลลงท้อง อาเจียนอยู่ประมาณ 5-6 รอบได้ ถึงจะหมด

ถามว่าเจ็บแผลหรือปวดไหม? ไม่เจ็บเลยค่ะ มันชา เพราะตอนผ่าตัด เส้นประสาทจะได้รับการกระทบกระเทือน

แต่ละคนจะมีอาการชาต่างกัน แล้วแต่ว่าเส้นประสาทได้รับการกระทบกระเทือนขนาดไหน

ส่วนใหญ่ชาที่ปาก และคาง บางคนชาตั้งแต่ใต้ตาลงมาเลย ของเราปากไม่ชา คางไม่ชา แต่ชาที่เหงือกค่ะ

พยาบาลจะคอยถามว่า ให้คะแนนความปวดเท่าไหร่ 0-10

0 คือไม่ปวดเลย 10 คือปวดมากที่สุด จริงๆ ไม่ปวดหรอก แต่บอกไปว่า 2 กลัวเดี๋ยวเค้าไม่ให้ยา

ซักพักพยาบาลมาเช็ดตัวเช็ดหน้าให้ ตอนนั้นแหละค่ะที่ความปวดมาเยือน

คือถ้าอยู่เฉยๆ มันไม่ปวดเลยนะ แต่พอพยาบาลเอาผ้าชุบน้ำมาแตะโดนคางเท่านั้นแหละ

สะดุ้งเลยค่ะ มันปวดจี๊ดอะ โดยเฉพาะตรงมุมกรามที่หมอตัดกระดูกออกไปกับตรงคาง เลยขอพยาบาลเช็ดหน้าเอง

ผลข้างเคียงอีกอย่างคือ พอตกกลางคืนจะมีอาการคัดจมูกค่ะ ตอนแรกก็รูเดียว ซักพักคัดสองรู หายใจไม่ออก

ต้องบอกพยาบาล เค้าจะให้ยาหยอด หยอดแล้วก็โล่ง นอนได้ หลับสบายในคืนแรก

วันที่ 2 นี่แหละที่เด็ด ตื่นมาส่องกระจก หน้าบวมมากกกก
ตามรูปเลยค่ะ ใครไม่รู้คงนึกว่าโดนรุมตื้บมา 555 แม่บอกเห็นแล้วอดสงสารไม่ได้

เป็นวันที่บวมสุดแล้วค่ะ หลังจากนี้จะเริ่มลดบวมลงเรื่อยๆ  ผ้าสีม่วงๆ คือถุงใส่เจลประคบเย็น

หลังจากออกจากห้องผ่าตัด พยาบาลก็ใส่ให้เลยค่ะ ประคบเย็นตลอดเวลา ที่โรงพยาบาลมีให้ยืม 1 คู่

ต้องซื้อมาเองอีก 1 คู่ เอาไว้เปลี่ยน วันนี้ได้รับอนุญาตให้กินอาหารแล้ว ก็จัดเต็มเลยค่ะ

ใช้ไซริงฉีดกินเอง เกลี้ยงทุกอย่าง แต่หลังกินอาหารทุกครั้งต้องทำความสะอาดด้วยน้ำยาบ้วนปากของโรงพยาบาลผสมน้ำ

กับน้ำเกลือ Normal Saline เพื่อไม่ให้แผลสกปรกแล้วก็ติดเชื้อค่ะ
วันที่ 3 เริ่มบวมลดลงนิดหน่อย ตกบ่ายหมอมาดูแผล เห็นว่าเลือดหยุดไหลแล้ว

เลยให้ไปถอดสายเดรน วิธีเอาออกทำยังไงน่ะเหรอ หึหึ

หมอก็นับ 1..2.. แล้วดึงค่ะ ดึงแบบพรวดเดียวออก เจ็บจี๊ดเบาๆ แต่พอทนได้ เอาออกแล้วก็โล่งสบายขึ้น
แต่ที่ยังอยู่คือ แผลที่มุมปากค่ะ แผลนี้เกิดจากตอนผ่าตัด หมอต้องถ่างปาก แล้วคิดดูว่า 6 ชั่วโมง

มันก็ต้องมีฉีกกันบ้าง สำหรับเราแผลมุมปากเจ็บที่สุดแล้วในการผ่าตัดครั้งนี้ ถ้าไม่นับตอนฉีดยาก่อนผ่าตัด

เตรียมวาสลีน ยาไตรโนโลน มาไว้ทาแผลมุมปาก ตามคำแนะนำของผู้มีประสบการณ์ผ่าตัดมาก่อน

แต่ปรากฏว่า 3 วันแรกที่ทาไป แผลมันไม่ดีขึ้น ยาที่ทาทำให้สภาพแผลเปียกเยิ้มตลอด แล้วพอเช็ดทำความสะอาด

แผลที่เหมือนกำลังจะตกสะเก็ดก็ลอกออก แสบสะท้านเลยล่ะ

บังเอิญคืนที่ 3 หายาไตรโนโลนไม่เจอ วาสลีนก็ไม่อยากทา มันเยิ้ม เลยเอาลิป Medex ของ Blistex ที่พกติดตัวมาด้วยมาทา

ทาแล้วจะรู้สึกเย็นๆ ดี ทำให้ไม่แสบ ปรากฏเช้ามา เหยยยยย แผลดูดีขึ้น ไม่เปียกเยิ้มเหมือนตอนแรก

วันที่ 4 หมอเข้ามาตรวจตอนเช้า ถามว่า อยากให้เลือดไหม เพราะตอนผ่าตัดเสียเลือดมาก

อาการตอนนี้คือ ให้ก็ได้ ไม่ให้ก็ได้ แต่ถ้ารู้สึกว่าไม่ไหว หมอจะให้เลือด

อิฉันก็ตอบไม่ต้องคิดเลยค่ะว่า ไหวค่ะหมอ สรุปหมอบอก ถ้าไหว หมอจะให้กลับบ้านได้

(จริงๆ หมอบอกกลับได้ตั้งแต่วันที่ 3 แล้วค่ะ แต่แม่อยากให้อยู่ต่อ เพราะกลัวว่าจะเป็นอะไรขึ้นมาตอนอยู่ไกลหมอ แม่กลัว)
สายๆ ก็ไปอาบน้ำ สระผมเป็นครั้งแรกหลังจากผ่าตัด โล่งหัว สบายตัวมากกกก

หน้ายังบวมอยู่ แต่ขนาดของปากลดลงอย่างเห็นได้ชัด แฟนบอก หน้าเหมือนกบ 555

หลังจากนี้ก็ไปเคลียร์ค่าใช้จ่ายก่อนออกจากโรงพยาบาล

ค่าผ่าตัด + ค่าห้อง = 158,000 บาท มีเศษนิดหน่อย ตัวเบาเลยล่ะฮะท่านผู้ชม

หมอทำอะไรให้บ้าง?

ตอนหมอมาเยี่ยม หมอเล่าให้ฟังว่า เคสนี้ยากและทำเยอะ ขากรรไกรบนผ่าเป็น 3 ชิ้น ยกขึ้น 8 มม. และถอยเข้า 4 มม.

แก้ขากรรไกรเอียงด้วยการยกข้างซ้ายขึ้นมากกว่าข้างขวา ส่วนขากรรไกรล่าง ก็ตัดเป็น 3 ชิ้น แล้วเลื่อนเข้าให้พอดีกับ

ขากรรไกรบน ซึ่งทำให้หน้าสั้นลง และกลม ประกอบกับจขกท.คางสั้นอยู่แล้ว หมอเลยตัดเอากระดูกมุมกราม

มาเสริมคางให้ แต่คางเราเบี้ยวนิดนึง หน้าไม่สมมาตรอยู่แล้ว จมูกเบี้ยว คางเบี้ยว

คิดว่าเพราะนังขากรรไกรที่โตผิดรูปผิดร่างนี่แหละ ที่พาอย่างอื่นเบี้ยวไปด้วย

แต่เรื่องคางหมอบอกแก้ได้ ตอนผ่าเอาเพลทออก
ภาพเอ็กซเรย์
ซ้าย: หลังผ่าตัดวันที่ 3
ขวา: ก่อนผ่าตัด

ออกจากโรงพยาบาลแล้วกลับไปอยู่หอ การปฏิบัติตัวก็เหมือนตอนอยู่โรงพยาบาล คือต้องดูแลเรื่องความสะอาดในปาก

พยาบาลกับหมอย้ำว่าให้ลุกเดิน ออกกำลังกายบ่อยๆ จะได้หายไวๆ

พอกลับมาอยู่บ้านมีอาการข้างเคียงคือ ปวดหูตอนกลางคืนค่ะ

แก้ไขด้วยการใช้เจลประคบเย็นโปะไว้ตลอด แล้วก็กินยาแก้ปวด ประมาณ 3-4 วันอาการที่ว่าก็หายไปเอง

อ้อ อีกอย่าง หมอห้ามเคี้ยวเด็ดขาดเป็นเวลา 6 สัปดาห์ค่ะ ช่วงแรกต้องกินอาหารเหลวใสอย่างเดียว

พอครบ 2 สัปดาห์ ตัดไหมแล้ว ก็กินอาหารเหลวได้

ตอนตัดไหม ก็เจ็บนะ แต่แบบพอทนได้ หมอมือเบามาก

หลังจาก 6 สัปดาห์เริ่มเคี้ยวอาหารอ่อนๆได้ แต่ยังห้ามพวกอาหารเหนียวๆ แข็งๆ ต้องรอให้กระดูกประสานกันก่อน

ความเศร้าคือ กว่าจะเคี้ยวได้น้ำหนักข้าพเจ้าก็ลดฮวบลงไป เกือบ 5 กิโล จากผอมอยู่แล้ว กลายเป็นผอมมากกกก

อาการหลังผ่าตัดทั้งหมดก็มีเท่านี้แหละค่ะ ทีนี้มาดูรูปพัฒนาการความบวมกัน
ใบหน้าจะค่อยๆ ลดบวมจนประมาณเดือนที่ 6 ถึงจะเป็นหน้าจริง หมอบอกยังไงก็จะมีแก้มนะ เพราะหน้าสั้นลง

แต่เรื่องนี้ไม่ใช่ปัญหาสำหรับเราค่ะ ชอบมีแก้มอยู่แล้ว มันดูเด็ก อิอิ
หลังผ่าตัด 3 สัปดาห์
ช่วงแรกๆ ยังยิ้มเห็นฟันไม่ค่อยได้ เพราะมันยังบวมๆ ตึงๆ
หลังผ่าตัด 1 เดือน

หลังผ่าตัด 2 เดือน
หลังผ่าตัด 3 เดือนครึ่ง
และปัจจุบัน คือหลังผ่าตัด 4 เดือนค่ะ

ตอนนี้ยังต้องจัดฟันต่อ ให้ฟันเข้าที่ แล้วพอถึงเวลากระดูกสมานกันดีแล้ว หมอจะนัดผ่าเพลทไทเทเนียม

ที่ใช้ยึดกระดูกไว้ด้วยกันออก ส่วนฟัน เมื่อเข้าที่หมอจะถอดเหล็กออกให้ และใส่รีเทนเนอร์แทนค่ะ

หลังผ่าตัดรู้สึกยังไง?

โอย รู้สึกดีมากกกกกค่ะ เหมือนได้เกิดไหม่ 555

การเคี้ยวดีขึ้น เวลาเคี้ยว ข้าวไม่กระเด็นออกจากปาก เพราะหุบปากได้แล้ว (สิ่งนี้ที่ไฝ่ฝันมานาน)

ขากรรไกรไม่ลั่นให้ปวดใจแล้ว หน้าที่เปลี่ยนไปแบบญาติจำไม่ได้ ทำให้รู้สึกมั่นใจมากขึ้น

เวลายิ้ม เหงือกไม่ออกมาสวัสดีชาวโลกแล้ว สามารถถ่ายรูปมุมข้างแบบดูแล้วไม่เป็นแก้วหน้าม้าได้แล้ว ฮ่าาา

มีหลายคนเห็นรูปในเฟสบุ๊กแล้วเข้าใจว่าเราไปศัลยกรรมความงามมา

จริงๆ การผ่าตัดขากรรไกรก็คือการศัลยกรรมอย่างหนึ่ง แต่มันเป็นการศัลยกรรมเพื่อแก้ไขปัญหาความผิดปกติค่ะ

การที่หน้าตาดูดีขึ้น มันคือผลพลอยได้ จริงๆ เราคิดว่าหน้าใหม่นี้คือหน้าปกติที่มันควรจะเป็น

บางคนไลน์มาถามว่าไปทำอะไรมา ทำไมหน้าเล็กลง ทำที่ไหน จะไปทำบ้าง

ก็อธิบายไปว่า แบบที่เราทำคือสำหรับคนที่มีปัญหาขากรรไกรค่ะ

ถ้าไม่ได้มีปัญหาที่ว่า แต่อยากกรามเล็กลง จมูกโด่ง หน้าเรียว ฯลฯ ต้องทำศัลยกรรมความงาม ซึ่งทำโดยหมอคนละด้านกัน

สำหรับคนที่กำลังมีปัญหาขากรรไกร และกำลังตัดสินใจว่าจะทำดีหรือเปล่า แนะนำให้ปรึกษาหมอค่ะ

ต้องเป็นหมอเฉพาะทางด้วยนะคะ เพราะไม่ใช่หมอฟันทุกคน จะจัดฟันแบบร่วมกับการผ่าตัดขากรรไกรได้

ทางที่ดี ควรจะไปปรึกษาหมอหลายๆคนค่ะ

อย่างไรก็ตาม สุดท้ายตัวเราต้องเป็นคนตัดสินใจเอง

ที่มารีวิวครั้งนี้ ไม่ได้ต้องการเชิญชวนให้ทุกคนทำตามนะคะ แต่แค่อยากแบ่งปันประสบการณ์ของตัวเอง

การผ่าตัดขากรรไกร เป็นการผ่าตัดใหญ่ ยิ่งถ้าผ่า 2 ขากรรไกร ต้องดมยาสลบ ซึ่งมีผลข้างเคียงที่เราจะรู้ได้ก็ต่อเมื่อดมยาไปแล้ว

แบบเบาหน่อยก็คือ ตื่นมาแล้วเวียนหัว อาเจียน เจ็บคอจากการใส่ท่อช่วยหายใจ

แต่ถ้าหนักคือ ไม่ตื่นเลย >>> เสียชีวิตค่ะ

ข้อมูลเหล่านี้ เจ้าหน้าที่จะแจ้งเรา และให้เราเซนรับทราบและยินยอมก่อนทำการผ่าตัด

ซึ่งหมายความว่า ถ้าเกิดอะไรขึ้น ญาติจะไปเรียกร้องอะไรไม่ได้ นอกจากนี้ ผลข้างเคียงอีกอย่างคืออาการชาค่ะ

เท่าที่ทราบมา ชาเกือบทุกคน ต่างกันตรงที่จะชาตรงส่วนไหน บางคนชาเกือบทั้งหน้า และใช้เวลานานกว่าจะหายชาทั้งหมด

บางคนชาไม่หายตลอดชีวิตก็มี ซึ่งถ้าส่วนที่ชาไม่กระทบกับการใช้ชีวิตประจำวันก็โอเค

แต่ถ้าเป็นส่วนที่จำเป็นต้องใช้งาน อย่างริมฝีปาก ก็คงเป็นปัญหาอยู่ไม่น้อย ก่อนตัดสินใจ อยากให้หาข้อมูลเยอะๆ นะคะ

สุดท้าย (จะจบละๆ ฮ่าๆ) อยากเล่าเรื่องความประทับใจ

นอกจากความสะอาด สะดวกสบาย ของห้องพักที่โรงพยาบาลแล้ว พยาบาลที่แผนกผู้ป่วยในของโรงพยาบาลทันตกรรม ม.มหิดล

น่ารักมากกกกกก (ก.ไก่ล้านตัว) ดูแลดีมาก กดปุ่มเรียกปุ๊บ เข้ามาปั๊บ ใส่ใจคนไข้ขั้นสุด

ไม่ได้จ้างพยาบาลพิเศษ แต่ก็เหมือนมีพยาบาลอยู่ด้วยตลอด พี่พยาบาลก็พูดจาน่ารักเป็นกันเอง

ชวนคุยไม่ให้เครียด แถมพาออกไปเดินเล่นชมวิวด้วย ขอชื่นชมและขอบคุณมากๆ ที่คอยดูแลค่ะ <3

หวังว่าข้อมูลที่สาธยายมาจะเป็นประโยชน์นะคะ  บัยยย (จบดื้อๆ 555)

ที่มา: http://www.bigza.com/news-174838


 

Blogger news

Blogroll

About