เบรนด้า ไมเออร์ส-พาเวลล์ เปิดเผยประสบการณ์ที่ตัวเองเคยยึดอาชีพโสเภณีหาเลี้ยงปากท้องมานานถึง 25 ปี ก่อนที่จะหลุดพ้นจากช่วงเวลาดังกล่าวแล้วอุทิศชีวิตใหม่ช่วยเหลือเด็กผู้หญิงคนอื่นไม่ให้ต้องประสบชะตากรรมเช่นเดียวกับเธอ
เบรนด้า เล่าว่า เธอเกิดในช่วงปีคริสต์ทศวรรษ 1960 ในย่านเวสต์ไซด์ ของนครชิคาโก แม่ของเธอเสียชีวิตตั้งแต่เบรนด้าอายุเพียง 6 เดือน ด้วยเหตุนี้เธอจึงถูกเลี้ยงดูโดยยายที่มีปัญหาติดเหล้าและมักพาคู่ดื่มกลับมาที่บ้านด้วยเสมอ นี่จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้เบรนด้าถูกล่วงละเมิดทางเพศเมื่อมีอายุเพียง 4-5 ขวบ จากนั้นเธอก็เป็นเหยื่อการล่วงละเมิดทางเพศเรื่อยมา เพราะยายต้องออกไปทำงานนอกบ้านจึงปล่อยให้เธอใช้ชีวิตวัยเด็กส่วนใหญ่ตามลำพัง
พออายุได้ 14 ปี เบรนด้าออกจากโรงเรียน และมีลูกแล้ว 2 คนกับเด็กผู้ชายแถวบ้าน ด้วยปากท้องที่เพิ่มขึ้น ยายจึงบอกให้เธอช่วยหาเงินเข้าบ้าน นี่จึงทำให้เธอก้าวเข้าสู่อาชีพโสเภณีด้วยวัยเพียง 14 ปี เบรนด้า บอกว่าในวันแรกนั้นเธอร้องไห้ตั้งแต่ต้นจนจบ และหาเงินได้ราว 13,000 บาท จากการรับแขก 5 คน เมื่อกลับถึงบ้านเธอเอาเงินส่วนใหญ่ให้ยาย โดยที่ยายก็ไม่ถามซักคำว่าเธอเอาเงินมาจากไหน และดูเหมือนจะพอใจเวลาที่เธอเอาเงินไปให้ในครั้งถัดไป
แต่ชีวิตในเส้นทางการเป็นโสเภณีไม่ได้ง่ายอย่างที่เบรนด้าคิดไว้ เพราะในการทำงานวันที่ 3 ของเธอ เบรนด้าถูกผู้ชายกลุ่มหนึ่งบังคับไปข่มขืนและจับขังไว้ในตู้เสื้อผ้าจนเธอยอมทำงานเป็นโสเภณีในสังกัด แม้จะถูกทำทารุณทั้งทางร่างกายและจิตใจแต่เธอก็ยังไม่สามารถออกมาจากวงเวียนนี้ได้ และทำงานบริการทางเพศอยู่นานถึง 25 ปี ซึ่งช่วงดังกล่าวเธอก็ได้เข้าไปพัวพันกับยาเสพติด และต้องเสี่ยงชีวิตกับความรุนแรงทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการถูกยิงถึง 5 ครั้ง และถูกแทงถึง 13 ครั้ง
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญในชีวิตเกิดขึ้นเมื่อเบรนด้า มีอายุเกือบ 40 ปี โดยวันนั้นเธอได้รับบาดเจ็บสาหัสเพราะถูกลูกค้าผลักตกรถแต่ชุดของเธอกลับไปเกี่ยวกับประตูรถทำให้ถูกลากไปตามถนนหลายช่วงตึก เมื่อไปถึงโรงพยาบาลเธอกลับไม่ได้รับการใส่ใจเพียงเพราะเธอมีอาชีพโสเภณี เบรนด้าจึงเริ่มภาวนาขอให้พระเจ้าช่วย จากนั้นเธอถูกส่งตัวไปยังบ้านพักฉุกเฉินที่ชื่อ Genesis House ของหญิงชาวอังกฤษที่ชื่อเอ็ดวินา เกทลีย์ ผู้ซึ่งกลายเป็นทั้งวีรสตรีและที่ปรึกษาของเธอ
อีกทั้งยังเป็นแรงบันดาลใจให้เธอคิดช่วยเหลือผู้หญิงและเด็กที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ และที่ทำงานขายบริการ
ปัจจุบันเบรนด้า เป็นผู้ร่วมก่อตั้งมูลนิธิ Dreamcatcher Foundation ซึ่งชื่อดังกล่าวได้รับแรงบันดาลใจมาจากตาข่ายดักฝันที่ชาวอเมริกันพื้นเมืองใช้เป็นเครื่องรางขับไล่ฝันร้ายให้แก่เด็ก ซึ่งเธอก็ต้องการให้มูลนิธินี้ช่วยขับไล่ฝันร้ายไปจากบรรดาเด็กหญิงที่เป็นเหยื่อของการล่วงละเมิดทางเพศ และช่วยให้เด็กกลุ่มนี้มีอนาคตทางการศึกษาที่สดใส นอกจากนี้เธอยังเป็นอาสาสมัครให้งานวิจัยเกี่ยวกับปัญหาโสเภณี และการค้ามนุษย์อีกด้วย
ช่วงเวลาที่มืดมนในชีวิตของเบรนด้าได้ผ่านพ้นไปแล้ว ตอนนี้เธอได้พบกับผู้ชายที่ดีและเพิ่งฉลองครบรอบการแต่งงาน 10 ปีไปเมื่อปีก่อน ส่วนลูกสาว 2 คนตอนนี้ได้เติบโตเป็นหมอ และนักกฎหมาย นอกจากนี้เธอยังเพิ่งรับอุปการะหลานชายตัวน้อย เบรนด้าบอกว่าอยากให้เรื่องราวของเธอเป็นกำลังใจให้ทุกคนได้เห็นว่าชีวิตยังมีคุณค่าและความหวังอยู่เสมอไม่ว่าจะผ่านเรื่องราวเลวร้ายมามากเพียงใดก็ตาม
ที่มา: http://variety.teenee.com/foodforbrain/70278.html